สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบประชาคม มก. ครั้งที่ 1

นายกสภา มก. ดำเนินงานแบบ  

สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

          วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์  นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แถลงในกิจกรรม “สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1” ถึงแนวทางการนำพามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ ซึ่งต้องบริหารจัดการบนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้านการศึกษา โดยในปี 2558 ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย จะดำเนินการบนหลักการของ คือ การร่วมมือกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหาร เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่อนาคต โดยใช้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปดำเนินการ  และ สภามหาวิทยาลัยจะกำกับดูแล ตรวจสอบ และประเมินการบริหารงานของฝ่ายบริหาร  ในขณะเดียวกัน สภามหาวิทยาลัยก็จะต้องมีการประเมินบทบาทหน้าที่ของตนเอง และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินจากภายนอกด้วยเช่นกัน

          สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ประการแรก จะพัฒนาบทบาท หน้าที่ และการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัยฯ ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ประการที่ 2  จะพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ  โดยจะเสนอสภามหาวิทยาลัยให้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในระยะ 12 ปี และให้มีการพิจารณาทบทวนแผนยุทธศาสตร์ พิจารณาโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

          รศ.ดร.วิโรจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย จะมุ่งมั่นพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 6 U คือ Green University, Electronic University, Research University, World Class University, Social Responsibility University  และ Happiness University  ซึ่งตลอด 72 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์งยึดมั่นอุดมการณ์มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ โดยนำศาสตร์ 3 ศาสตร์คือ (1) ศาสตร์พระราชา ซึ่งมหาวิทยาลัยได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2520  มากำหนดเป็นหลักของมหาวิทยาลัย คือ การเป็น “ศาสตร์ของแผ่นดิน” ซึ่งได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ด้วย (2) ศาสตร์ชุมชน ซึ่งมุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีของชาติ ตามเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และ (3) ศาสตร์สากล เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งจะนำศาสตร์ดังกล่าวมาบูรณาการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

          ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการในเชิงรุก และปรับกระบวนทัศน์ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และสร้างให้เกิดความพร้อมของการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่างราบรื่น  ซึ่งขณะนี้สภามหาวิทยาลัย ฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ให้ครอบคลุมภารกิจด้านวิชาการ ด้านการวิจัย ด้านบริการวิชาการ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านการบริหารงานทั่วไป นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง “สำนักงานสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับหน่วยงานรองรับภารกิจของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเปิดเว็บไซต์สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Council : council.ku.ac.th) เพื่อให้ข้อมูลให้บุคลากร นิสิตและประชาชนทั่วไปได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกำกับของรัฐทั้งด้านการบริหารจัดการ บุคลากร การเงินและทรัพย์สิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอความร่วมมือจากบุคลากร นิสิต นิสิตเก่า และประชาชนทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ด้วยการมีส่วนร่วมทุกระดับ คือ “เกษตรศาสตร์ หนึ่ง” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัย, “เกษตรศาสตร์ สิบ” ซึ่งหมายถึงสภามหาวิทยาลัย, “เกษตรศาสตร์ ร้อย” ซึ่งหมายถึงคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย, “เกษตรศาสตร์ พัน” ซึ่งหมายถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัย, “เกษตรศาสตร์ หมื่น” ซึ่งหมายถึงนิสิตปัจจุบัน, “เกษตรศาสตร์ แสน” ซึ่งหมายถึงนิสิตเก่า และ “เกษตรศาสตร์ ล้าน” ซึ่งหมายถึงประชาชนชาวไทยทั้งมวล