มก. – กระทรวงเกษตร ฯ – ธกส. จับมือขับเคลื่อน
การพัฒนาภาคการเกษตรด้วย
Digital Economy

          รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ครั้งที่ 4 : เกษตรก้าวไกลด้วย Digital Economy และ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธีเปิด “ ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเป็นคลังข้อมูลที่เก็บรักษาและรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเกษตรของประเทศ ไว้กว่า 2 แสนรายการ อาทิ ผลงานวิจัย หนังสือ ตำรา และบทความรู้ด้านการเกษตรของประเทศไทย จากการดำเนินการของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเครือข่าย เปิดให้บริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ ได้สืบค้นข้อมูลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ รมต.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียติบรรยายพิเศษ เรื่อง ไอทีกับการพัฒนาเกษตรไทยด้วย Digital Economy ด้วย เมื่อวันที่18 มิถุนายน 2558  จัดการสัมมนาโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ  ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ และศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ชั้น 5 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีบุคลากรในวงการสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน

          
          รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาในองค์รวมของศาสตร์แห่งแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิชาการด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดฐานความรู้ที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาการวิจัยและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมอย่างยาวนาน โดยมี สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและดำเนินการ

          “ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการจัดทำโครงการเกษตรก้าวไกลด้วย Digital Economy เพื่อผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง โดยจะดำเนินการความร่วมมือใน 5 เรื่อง ดังนี้

1. เชื่อมโยงองค์ความรู้และเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเข้าด้วยกันทั้งสามหน่วยงาน เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า SUPER DATA
2. พัฒนาระบบ e-commerce
3. พัฒนาระบบการรับรองผลิตผลและการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าการเกษตร
4. บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ
5. ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร ” โดยนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปเชื่อมต่อกับการทำงานในด้านการบริหารจัดการภาคการเกษตรในระดับประเทศต่อไป