13469          วันที่ 21 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคารเทพรัตน์วิทยา-โชติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณห้องสมุดสีเขียวต้นแบบและห้องสมุดสีเขียวนำร่องที่ผ่านการตรวจประเมินปี 2560 ตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โอกาสนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ปรึกษาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ร่วมในพิธี

          รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ กล่าวว่า  “ห้องสมุด เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความรู้และสร้างสรรค์ปัญญาให้กับชุมชนและสังคม การพัฒนาห้องสมุดให้เป็นต้นแบบของสังคมในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว จะช่วยให้ห้องสมุดสามารถบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

          สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ นอกจากเป็นห้องสมุด Eco แห่งแรกของประเทศไทยแล้ว ยังได้บุกเบิกเรื่องการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว จนสามารถเป็นต้นแบบในระดับประเทศ ทั้งยังเป็นห้องสมุดที่ผ่านการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวเป็นแห่งแรกของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติที่ดีแล้ว มาถ่ายทอดให้ห้องสมุดเครือข่ายได้เรียนรู้และก้าวหน้าพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำเครือข่ายทีดี ที่รู้จักแบ่งปัน สร้างสรรค์ และพัฒนาไปด้วยกัน จึงขอชื่นชม และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกห้องสมุดได้พร้อมใจกันก้าวสู่การเป็นห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสังคม เป็นต้นแบบที่หน่วยงานต่างๆต้องมาดูเป็นแบบอย่าง

          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ยินดีให้ความสนับสนุน ทั้งการเป็นที่ปรึกษาเครือข่าย และการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยอาจารย์ นักวิจัยจากส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนยินดีสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมืออื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดสีเขียว เพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากคนสู่สังคม ขยายผลสู่ประเทศชาติ และระดับโลกในที่สุด ”

         ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดสีเขียวตามมาตรฐานในระดับประเทศ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ซึ่งได้ร่วมมือกันจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว ทั้งยัง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักหอสมุด และ VGreen คณะสิ่งแวดล้อม ทำการตรวจประเมินจนได้ห้องสมุดสีเขียวต้นแบบ 1 แห่ง และห้องสมุดสีเขียวนำร่องจำนวน 10 แห่ง ดังนี้

          ห้องสมุดสีเขียวต้นแบบ 1 แห่ง ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          ห้องสมุดสีเขียวนำร่องจำนวน 10 แห่ง ได้แก่

          สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้

          สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

          ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

          ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

          หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

          หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

          และโรงเรียนสา โดยห้องสมุดทั้ง 10 แห่ง เป็นห้องสมุดนำร่องที่เข้ารับการตรวจประเมินระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นห้องสมุดต้นแบบที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียวเป็นแห่งแรกของประเทศ ดำเนินการตรวจประเมินโดย ผู้ตรวจประเมินที่ขึ้นทะเบียนโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (VGREEN) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินร่วมกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ ดร.กนิษฐา กาญจนจารี มูลนิธิสวิตา