16111182_10210112710728694_407243044_n
          วันที่ 12-13 มกราคม พ.ศ. 2560 รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษ เรื่อง “มก.ฉกส. สืบสานหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในโครงการสัมมาทิฐิภิรมย์ ครั้งที่ 4 “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 มก.ฉกส.” แก่บุคลากรสายวิชาการ จำนวน 225 คน ใน 4 คณะ ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลศักดิ์  กิ่งคำ รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ณ ห้องพระพิรุณ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

        โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวิทยาเขต และสร้างความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจาก มก.ฉกส.ก่อตั้งขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 – 2559 พร้อมด้วยวัตถุประสงค์ทั้ง 9 ประการ ดังนี้

  1. เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 3 และเป็นวิทยาเขตดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมาสร้างความกินดีอยู่ดีของชาติ ด้วยศาสตร์แห่งแผ่นดิน คำอยู่ด้วย ศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน ศาสตร์สากล โดยใช้การเกษตรเป็นพื้นฐาน
  2. สร้างขึ้นที่จังหวัดสกลนคร สกลนคร เป็นบ้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.9 เป็นที่ตั้งของพระตำหนัก ศูนย์ภูพาน ศูนย์ศิลปาชีพ คนที่นี่ต้องเข้าใจ เข้าถึง พร้อมที่จะพัฒนา
  3. สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีที่ ร.9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
  4. ได้รับพระราชทานนามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 พร้อมตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ต้องภูมิใจ
  5. ได้น้อมนำหลักการทรงงาน ร.9 มารังสรรค์และพัฒนา
    • น้ำเพื่อชีวิต ดินเพื่อชีวิต ต้นไม้เพื่อชีวิต วิชาการเพื่อชีวิต
    • เพื่อสร้างคนไปสร้างชาติ
    • สร้างชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น
    • เพื่อสร้างโรงละครให้คนรุ่นหลังแสดงต่อไป
  1. สร้างเป็นวนานันทอุทยาน : เป็นสถานที่ที่มีความร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ เมื่อผู้ใดมาอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งเป็นอุทยานที่เต็มไปด้วยความภูมิใจ เนื่องจากประกอบไปด้วยอุทยานสำคัญ
    • อุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา รัชกาลที่ 9
    • อุทยานเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ เป็นป่าเต็งรังที่ดีที่สุดในประเทศ มีมูลค่ามาก
    • อุทยานเกษตร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ และเป็น University Farm สำหรับค้นคว้าวิจัย ดินที่มีชีวิต น้ำที่มีชีวิต
    • อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา พระเทพฯ
    • อุทยานธรรมเวชนคร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ เป็นห้องปฏิบัติการที่มีชีวิตของนิสิต
  2. สร้างด้วยจิตวิญญาณของคนในชาติ เพราะเกิดจากการ่วมใจกันของชาว มก.และจังหวัดสกลนคร
  3. รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ เปิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2547
  4. สืบสานหลักการทรงงาน ให้ก้าวไกล ….นิรันดร์

        นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “บุคลากรของ มก.ฉกส. ทุกคน ถือเป็นผู้ที่ทำงานในสถาบันการศึกษาที่มีความพิเศษ  มีความยิ่งใหญ่ และเป็นที่น่าภูมิใจเพราะสร้างขึ้นเพื่อทูลเกล้าถวาย ร.9 และเป็นวิทยาเขตสารสนเทศ ต้องการจะเห็นว่าบุคลากรอยากเห็นวิทยาเขตก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อ คิดแล้วก็ต้องพูด พูดแล้วต้องทำ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ภายใต้ พ.ร.บ.มก. 2558 เพื่อจะปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม” ยังได้ให้นโยบายในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  • การสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร เนื่องจากมีความสำคัญในการดำเนินงาน สร้างความเข้าใจในแนวทางและนโยบายในภาพรวม ให้แก่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ส่งผลให้องค์กรได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือ ตลอดจนงบประมาณที่จะมาดำเนินงาน
  • การบริหารจัดการที่เป็นระบบ บริหารจัดการแบบมีประสิทธิภาพ ผลงานที่มีคุณภาพ ตามหลักธรรมาภิบาล
  • ทำให้การทำงานอย่างเป็นระบบ ให้ระบบบริหารระบบ เพราะไม่ว่าใครจะมาบริหารงานหรือปฏิบัติงานต้องทำงานภายใต้ระบบที่มีประสิทธิภาพได้ หากยังไม่ทันสมัยก็ต้องมีการปรับปรุง
  • การบริหารจัดการในทุกด้าน มีวิธีการ 6 ขั้นตอน ดังนี้
    • การวางระบบ
    • จัดทำระเบียบ
    • จัดทำคู่มือ
    • ประกันคุณภาพ
    • ประเมินผล
    • ให้รางวัล เพื่อเป็นกำลังใจ

        ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรของแต่ละคณะ ได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรค ปัจจัยอันเป็นความเสี่ยงที่ต้องได้รับการบริหารจัดการโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยิ่งต่อการบริหารงาน ทั้งในระดับภายในและภายนอกวิทยาเขต ตลอดจนข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ ของวิทยาเขต เพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงานต่อไป  ซึ่งแต่ละคณะมีประเด็นปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะที่แตกต่างกัน

        ในการจัดโครงการสัมมาทิฐิภิรมย์ ครั้งที่ 4 จัดขึ้นทั้งหมด 2 วัน โดยแบ่งการบรรยายเป็น 4 ช่วงเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีความใกล้ชิดท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากยิ่งขึ้น ดังนี้

วันที่ 12  มกราคม 2560

        เวลา 09.00 – 12.00 น. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ (ศว.)

        โดย อ.สิริลักษณ์  พิชัยณรงค์ รองคณบดีคณบดี เป็นผู้แทนคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ นำบุคลากรเข้าร่วมจำนวน 35 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นสำคัญคือการเพิ่มสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจร่วมกันของบุคลากรภายในคณะให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้แนวคิดในการดำเนินงาน ดังนี้ “หากมีจิตวิญญาณก็จะรู้หน้าที่ การประชุมหรือการทำงาน แนะนำการเป็นนักบริหาร เป็นอาจารย์ จะต้องรู้ว่างานหลัก งานรอง งานย่อย คืออะไร ประชุมอะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไป อะไรไม่จำเป็นจัดลำดับความสำคัญไว้ทีหลัง เรื่องขึ้นเครื่องบิน หากขึ้นแล้วมีประโยชน์ก็ขึ้นได้ หากขึ้นแล้วไม่มีประโยชน์ก็ไม่ต้องขึ้น “มองลึกๆ นึกไกลๆ ใจกว้างๆ”  “ยิ่งให้ยิ่งได้”…แต่จะได้ในรูปแบบใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “ทุกนาทีมีผลงาน” ดังนั้นต้องทำตัวให้มีคุณค่าทุกๆนาที ยังมีภารกิจอีก 4 ด้านที่ต้องทำ *วัฒนธรรมของเกษตร ชื่อของอดีตอธิการบดีคือชื่อถนน นั่นคือชื่อที่ให้ผู้คนเหยียบย่ำ ดังนั้นผู้บริหารจะต้องพร้อมรับกับทุกสถานการณ์และบริหารจัดการให้องค์กรก้าวเดินต่อไปได้”

        เวลา 13.00 – 16.30 น. คณะสาธารณสุขศาสตร์ (สศ.) นำโดย อ.พัสกร  องอาจ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากรสายวิชาการจำนวน 24 คน เข้ารับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในภาพรวมของคณะมีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องหาแนวทางแก้ไขอัตรากำลังของคณะ เนื่องจากเป็นคณะที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จึงยังไม่มีอัตราประจำของคณะดังนั้นจึงต้องมีการหารืออย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา และเนื่องจากบุคลากรภายในคณะส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลความเป็นมาของวิทยาเขตเท่าที่ควร ในโอกาสนี้ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้นำบุคลากรของคณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้นิธิปัญญา (อาคาร 13) ประกอบด้วย หอประวัติ มก.ฉกส.  พิพิธภัณฑ์ดินลูกรัง และพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมห้องสมมาทิฐิ ซึ่งเป็นห้องที่รวบรวมผลงานของ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตรองอธิการบดีคนแรกของ มก.ฉกส. อดีตอธิการบดี มก.คนที่ 13  และนายกสภา มก. คน 28 ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคลากรเป็นอย่างมากและเป็นตัวอย่างในการเก็บรวบรวมเอกสารและหลักฐานที่สำคัญในการจัดทำประวัติศาสตร์การก่อตั้งของคณะต่อไป ตามแนวคิดที่นายกสภาฯ ได้กล่าวไว้ว่า “ที่ใดไม่มีประวัติศาสตร์…ที่นั่นไม่มีอนาคต”

วันที่ 13 มกราคม 2560

       เวลา 09.00 – 12.00 น. คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร  โดย ผศ.ดร.ชื่นจิต  แก้วกัญญา รองคณบดี เป็นผู้แทนคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร นำบุคลากรสายวิชาการ จำนวน 23 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

       นายกสภาฯ ได้ให้แนวทาง ในการดำเนินงานพื้นที่ “อุทยานเกษตร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์” มอบหมายให้วิทยาเขตดูแลในภาพรวม ให้มีความพร้อมในปี 2561 บูรณาการร่วมกับคณะเพื่อให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์สูงสุด

       เนื่องจาก คณะทอ.เป็นคณะหลักของวิทยาเขต และมหาวิทยาลัย มีศักยภาพและความพร้อม สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ

  • การสื่อสารเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม
  • การสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ให้มีความชัดเจนเพราะเป็นหน่วยงานหลักที่มีองค์ความรู้ด้านการเกษตร ที่บ่งบอกถึงความเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • การบริหารจัดการที่เป็นระบบ บริหารจัดการแบบมีประสิทธิภาพ ผลงานที่มีคุณภาพ ตามหลักธรรมาภิบาล

       เวลา 13.00 น. คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (วว.) โดย ผศ.ดร.ศมณพร  สุทธิบาก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นำบุคลากรสายวิชาการ จำนวน 49 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยนายกสภาฯ ได้สรุปประเด็นปัญหาสำคัญของคณะ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่

  • การสื่อสารภายในองค์กรให้เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยเฉพาะในด้านของนโยบายของมหาวิทยาลัย และวิทยาเขต
  • การหาแนวทางในการพัฒนาพื้นฐานความรู้ของนิสิตเพื่อสามารถสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด และลดปัญหาการพ้นสภาพนิสิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และรายได้ของวิทยาเขตด้วย
  • คณาจารย์ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงการพัฒนาวิชาการ บริการวิชาการ ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นแนวทางที่จะสามารถส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยให้เกิดความยั่งยืน