สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุม้ติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงวุฒิจำนวน 9 ท่าน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2558 ระหว่างวันที่ 24 – 28 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

          ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน ประกอบด้วย


01_ampol_BWนายอำพล เสนาณรงค์
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์) ด้วยผลงาน ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ป่า และสนองงานด้านการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปลูกป่ากับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง การพัฒนาการเกษตรโดยวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรน้ำและการฟื้นฟูป่าไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานการเขียนบทความ หนังสือ และเอกสารวิชาการทางด้านป่าไม้ อาทิ ป่าไม้เขตร้อนชื้น (Tropical Rainforest)  โครงการพระราชดำริบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชในสภาพป่า เป็นต้น

ผลงานวิชาการทางด้านป่าไม้ที่สำคัญอย่างยิ่งของ นายอำพล เสนาณรงค์ คือ การอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ยางนา สนองพระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีการนำยางนาไปปลูกในบริเวณพระตำหนักจิตลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ.  ๒๕๐๔ จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นป่าสาธิตและมีต้นยางนามากกว่า ๑๐๐ ต้น และริเริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทางด้านป่าไม้ ที่สำคัญได้แก่ “โครงการไม้ยางนา ราชาแห่งป่า เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษามหาราชา : จากป่าสู่วัง จากวังคืนสู่ป่าและไร่นาประชาไทย”

 

 

vit_BWศ. วิทย์  ธารชลานุกิจ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) ผู้บุกเบิกงานด้านการศึกษาและค้นคว้าวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของคณะประมงของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และค้นคว้าวิจัยจนสามารถเพาะพันธุ์ปลาจีนด้วยกรรมวิธีฉีดฮอร์โมนสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ทั้งได้พัฒนาการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ซึ่งในบางพื้นที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับที่ดินและแหล่งน้ำ โดยทดลองเลี้ยงปลาดุกในบ่อคอนกรีตกลมระบบน้ำหมุนเวียน เป็นการเริ่มต้นของการใช้อาหารเม็ดลอยน้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์และศึกษาวิธีการเลี้ยงกบนา กบบูลฟร็อก และตะพาบน้ำ เป็นผลสำเร็จจนสามารถเผยแพร่ให้เป็นอาชีพของเกษตรกรและเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมาตลอดจนถึงปัจจุบัน  ผลงานวิจัยดังกล่าวช่วยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยให้ก้าวหน้า ลดการนำเข้าลูกพันธุ์ปลาจากต่างประเทศ ช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย และยังมีส่วนทำให้เกษตรกรมีโปรตีนจากปลาในราคาถูกใช้บริโภคในครัวเรือนด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์อาร์ทีเมียแห่งชาติ หรือ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์น้ำ ในปัจจุบัน

 

 


02_vitool_BWศ. ดร.วิฑูรย์ ปริญญาวิวัฒน์กุล
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร
) ผลงานที่สำคัญ อาทิ การวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการเพิ่มมูลค่าในสารผสมอาหารเชิงหน้าที่ (functional ingredients) ที่มาจากอาหารทะเล งานวิจัยที่เกี่ยวกับศาสตร์ด้านประสาทสัมผัส และการนำเทคนิคทางสถิติขั้นสูงมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นการวิเคราะห์ทางสถิติของตัวแปรพหุ เพื่อช่วยในการแปลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสและผลตอบรับจากผู้บริโภคที่มีความซับซ้อน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ตำรา book chapters ทั้งยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน การทำวิจัยร่วม และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยของ หน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับต่างประเทศ และช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการทดสอบทางประสาทสัมผัสและการวิจัยผู้บริโภคของบุคลากรทั้งภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผลงานการพัฒนาดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำองค์ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 

 


chalongchai_BWรศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พืชสวน)
ผลงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลและการปฏิบัติดูแลรักษาไม้ผลให้ออกดอกติดผลอย่างมีคุณภาพดี และเกษตรกรได้นำไปปลูกจนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้และความกินดีอยู่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนได้พัฒนาสินค้าเกษตรส่งออกของประเทศไทย พัฒนาเทคนิควิธีการผลิตและปฏิบัติดูแลไม้ผลให้มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและเกษตรกร อาทิ ได้ศึกษาการบังคับการออกดอกนอกฤดูของมะม่วงด้วยสารแพคโคลบิวทราโซลกับมะม่วงพันธุ์ต่าง ๆ และขบวนการทำให้ติดผลและผลเจริญถึงแก่เก็บเกี่ยวได้  ริเริ่มการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในระยะผลชิด  ๔x๔ เมตร  เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย รวมทั้งการจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายและบรรยายเผยแพร่ความรู้จนเกษตรกรสามารถพัฒนาการปลูกไม้ผล เช่น  มะม่วง  น้อยหน่า อาโวกาโด มะละกอ  และกล้วยไข่ เพื่อการค้าและการส่งออกได้ดี การคัดเลือกและแนะนำพันธุ์ไม้ผล เช่น น้อยหน่าเพชรปากช่อง มะละกอปากช่อง ๑ และปากช่อง ๒ ให้เกษตรกรผลิตและจำหน่าย ตลอดจนได้นำอาโวคาโดมาคัดเลือกและส่งเสริมบนพื้นที่โครงการหลวง นับเป็นบุคคลต้นแบบว่า ครูผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ปัญญาด้านไม้ผล

 

 

 

yuen_BWรศ.ยืน  ภู่วรวรรณ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยและประเทศให้ทัดเทียมสากล และได้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการใช้ฐานข้อมูลพจนานุกรม ริเริ่มการพัฒนาโครงสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   นำระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยและแลนไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย นับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ นับเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งสำนักบริการคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยงานระดับคณะตั้งแต่ พ.ศ. 2528 นอกจากนี้ยังมีผลงานตีพิมพ์งานวิจัย ผลงานทางวิชาการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และ การสื่อสาร มากกว่า 100 เรื่อง

 

 

 

 

pitipong_BWนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดี้ (เศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร)  ผู้มีผลงานดีเด่นด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร โดยนำศาสตร์ทางเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรมาใช้ในการบริหารรัฐกิจและการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงในหน่วยงานระดับชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลก บทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร และยังได้วางรากฐานการวิจัยและพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลากหลายทางชีวภาพ ได้ประยุกต์ใช้ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการรักษาและเพิ่มพูนฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของไทย เช่น การจ่ายค่าตอบแทนคุณค่าของระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

 

 

 


jamrueng_BWนายสัตวแพทย์ จำเรือง พานเพียรศิลป์
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีสุขภาพสัตว์) 
นักพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ ที่นำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ในด้านต่างๆ มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาชีวิตและสุขภาพของสัตว์  ได้เอื้อเฟื้อโรงพยาบาลสัตว์ “เมืองชลสัตวรักษ์” เป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่ฝึกงานให้กับนิสิตคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ให้การรักษาและช่วยเหลือสัตว์ป่วยอนาถาและสุนัขจรจัดที่มีคนนำมารักษาที่คลินิก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังเป็นผู้ดำเนินการรณรงค์การทำหมันฟรีให้กับสุนัขและแมวในภาคตะวันออก รวมทั้งการประยุกต์หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือจากต่างประเทศที่มีราคาแพง ตลอดจนการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน และยังได้ทุ่มเทเวลาในการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ

 


kasem_BWนายเกษม ศรมยุรา
ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การปรับปรุงพันธุ์และการผลิตสัตว์)
เกษตรกรผู้บุกเบิกของการเลี้ยงเป็ดไข่และยังส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงเป็ดไข่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่บางเลน   จ.นครปฐม และพัฒนาจนกลายเป็นฐานกำลังที่สำคัญในการประกอบธุรกิจด้านสัตว์ปีกให้ไข่และปลาน้ำจืดที่ครบวงจรรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย จนปัจจุบันมีฟาร์มเป็ดไข่ระบบเปิดทั้งหมด ๕ ฟาร์ม และเป็นผู้ผลิตไข่เป็ดรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมดเป็นระบบฟาร์มปิดที่ทันสมัย จนปัจจุบันได้ตั้งบริษัทเกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการพัฒนาการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่และไข่เป็ดและปลาน้ำจืดจำนวนมาก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานบริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด ทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกิจการบริษัทในเครือรวม ๑๑ บริษัท และได้สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ สถานที่ฝึกงานและศึกษาดูงานแก่นิสิตระดับปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์ และเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่เพื่อการเรียนการสอนกรณีศึกษาด้านการจัดการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ให้แก่นิสิตปริญญาโทสาขาโภชนศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารสัตว์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน อย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน ให้สามารถนำไปผลิตจริงเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง

 

 


sansonthi_BWนายสรรค์สนธิ  บุณโยทยาน
ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ทรัพยากรเกษตรและการจัดการการผลิต)
ผู้มีส่วนร่วมงานและกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวิทยาเขต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาทรัพยากรเกษตรและการจัดการการผลิต ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษสำหรับการเรียนการสอนของคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะด้านการเกษตร ชลประทาน การท่องเที่ยว และการพัฒนาชุมชน จากความรู้ความสามารถ ความทุ่มเท และอุทิศตนให้กับงานด้านต่างๆ ทั้งด้านการพัฒนา ด้านวิชาการ ให้กับหลากหลายวงการจนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ เช่น งานวิจัยการใช้น้ำบาดาลในระบบชลประทานแบบท่อในการปลูกมะเขือเทศ

 

 

 

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ มก., 12 ตุลาคม 2559