นายกสภา ฯ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประเพณี

เกษตรศาสตร์ – มหิดล – กองทัพเรือ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 18

            วันที่ 9 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี  รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประเพณี เกษตรศาสตร์ – มหิดล – กองทัพเรือ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 18 เรื่อง “ความมั่นคงทางทรัพยากรในภาวะโลกร้อนและภัยแล้ง” เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญ  พระชันษาครบ 60 ปี พุทธศักราช 2560 ทั้งนี้ ทั้ง 4 สถาบัน ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนมากกว่าปกติซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ ภัยแล้งเป็นปัญหาธรรมชาติที่นำความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการผลิตผลผลิตทางการเกษตรซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรที่สำคัญในตลาดโลก ที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ และได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยธรรมชาติ จึงได้จัดการประชุมเพื่อร่วมกันบูรณาการหาทางแก้ไขและเตรียมรับมือ ซึ่งในปีนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.นายแพทย์ปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล พลเรือโท พิเชฐ ตานะเศรษฐ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวเปิดการประชุม ตอนหนึ่งว่า

            “สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักถึงความมั่นคงทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ภายใต้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม KU SUPER PLUS ยึดหลักธรรมมาภิบาล และการขับเคลื่อนการเป็น 6 U ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ Green University , Digital University, Research University , World Class University , Social Responsibility University,Happiness University ผมขอแสดงความชื่นชมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารจากสถาบันอุดมศึกษา วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน และปลูกฝังให้เยาวชนนิสิตนักศึกษาของประเทศให้เป็นผู้มีความเข้าใจในความสมดุล รักและห่วงแหนทรัพยากรให้ชนรุ่นหลังและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ผู้บัญชาการ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 4 สถาบัน ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในวัตถุประสงค์ของการร่วมมือและเสริมสร้างความรู้การวิจัยทางวิชาการต่อการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ที่ดีเพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งในการผสานความร่วมมือระหว่างสถาบัน หน่วยงานของรัฐ และเอกชน เพื่อเชื่อมโยงและร่วมระดมความคิด ความร่วมมือ ในการดำเนินการและพัฒนาสู่การเป็น “องค์ความรู้ร่วมกัน” ที่ยั่งยืนและส่งผลให้นิสิตนักศึกษาเป็นนักพัฒนาและวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างประหยัดเพื่อสืบทอดให้ชนรุ่นหลังสืบไป”

            การประชุมประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความมั่นคงทางทรัพยากรในภาวะโลกร้อนและภัยแล้ง” โดย ศ.ดร. เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การเสวนาพิเศษ เรื่อง “คนไทยจะอยู่อย่างไรเมื่อต้องแย่งใช้ทรัพยากรในภาวะโลกร้อนและภัยแล้ง การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการแสดงฉ่อยวิชาการของนิสิตนักศึกษา 4 สถาบัน ทั้งนี้ ในพิธีปิดการประชุม ได้มีพิธีส่งมอบธงสัญลักษณ์การจัดการประชุมให้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันเจ้าภาพจัดการประชุมเพณี 4 สถาบัน ครั้งที่ 19 ในปี พ.ศ. 2560 ด้วย