12935408_785999951536500_1806927116_n

          วันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2559 รศ.ดร.วิโรจ  อิ่มพิทักษ์  นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ประกอบด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี รศ.ดร.วิไลศักดิ์  กิ่งคำ รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ผศ.ดร.บัญชา ชิณศรี  รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์  ดร.วรัณทัต  ดุลยพฤกษ์  รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต  นสพ.ดร.เสรี  กุญแจนาค รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน ดร.ธานินทร์ คงศิลา รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี  อ.ภาคภูมิ  ตันเตชสาธิต  รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ  นายพรศักดิ์  แสนศรี รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและเทคโนโลยีสารสนเทศ อ.พาสกร  องอาจ  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์  ผศ.อนุพร  สวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ มก. เดินทางไปประชมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก และแขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

12921084_785998901536605_1826965957_n

          ความเป็นมาของการเดินทางไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังแขวงจำปาสัก สปป.ลาว และทรงรับสั่งให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวขึ้นที่เมืองปากเซ โดยรับสั่งให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนั้น รศ.ดร.วิโรจ  อิ่มพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ให้ความช่วยเหลือการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ได้รับการประสานงานจาก ดร.ศรีคำตาด มีตาไล เพื่อประชุมหารือร่วมกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ เดินทางมายังเมืองปากเซ เป็นครั้งแรก และวันที่ 29-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ได้เชิญ ดร.ศรีคำตาด   มีตาไล ไปลงนามความร่วมมือที่วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

          การเดินทางมายังเมืองปากเซ ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ในครั้งนั้น รศ.ดร.วิโรจ  อิ่มพิทักษ์ เดินทางมารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยจำปาสัก นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยจำปาสัก  โดย รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ได้นำคณะผู้บริหารมาร่วมวางแนวทางเพื่อพัฒนาด้านกายภาพ ด้านวิชาการ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมกับได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ของรศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์

          การเดินทางครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2550 รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ หมดวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีแล้ว ได้นำโคเนื้อกำแพงแสน จำนวน 9 ตัว และทุนการศึกษาจำนวน 10 ทุน เป็นทุนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทางด้านเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มามอบให้กับมหาวิทยาลัยจำปาสัก และได้มีการลงนามความร่วมมือในปี พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นได้มีการลงนามความร่วมมือกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2555 โดยขณะนั้น รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

          วัตถุประสงค์ในการเดินทาง ครั้งที่สี่

          สำหรับการเดินทางไปเยือนเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ของ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ ในรอบ 9 ปี ระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2559  มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ดังนี้

         1) ตามรอยเส้นทางเสด็จ ฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ติดตามและทบทวนประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยจำปาสัก มีความร่วมมือกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน

          2) เสนอให้มีการจัดทำหอประวัติและหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยจำปาสัก

          3) เพื่อจัดตั้งศูนย์นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยจำปาสัก เนื่องจากปัจจุบันมีนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในแขวงจำปาสัก ประมาณ 20 คน

          การเดินทางมีรายละเอียดดังนี้

          วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559  เวลา 14.00 น. นายกสภาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางถึงเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว โดยมีท่านดาววอน พะจันทะวง รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ให้การต้อนรับ  จากนั้นเดินทางเข้าเยี่ยมชมพื้นที่โดยรวมของมหาวิทยาลัยจำปาสัก โดยมี ดร.พรสวรรค์  เทพพะสุรีธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยจำปาสักให้การต้อนรับ และแนะนำข้อมูลพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยจำปาสัก

          ต่อมาได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ทดลองเกษตรแบบผสมผสาน ชมกิจกรรมปศุสัตว์และกิจกรรมประมงน้ำจืด ซึ่งพบปัญหาเกี่ยวกับการขาดน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เนื่องจากยังไม่มีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยในฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำท่วม แต่ในฤดูแล้งมีปัญหาขาดน้ำ ส่งผลต่อการทดลองการเกษตรของศูนย์เป็นอย่างมาก

          วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 09.00 น. นายกสภาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางร่วมประชุมความร่วมมือกับ ดร.ศรีคำตาด มีตาไล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก ดร.พรสวรรค์ เทพพะสุรีธร  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยจำปาสัก และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำปาสัก ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยจำปาสัก  โดยได้เสนอแนวทางในการดำเนินงาน 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก และมหาวิทยาลัยจำปาสักได้มีแนวทางขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

          1) ขอให้ติดตามการเปิดหลักสูตรสาขา MBA จากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2559

          2) ขอการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการเข้าร่วมเผยแพร่ผลงานวิชาการ และงานวิจัยในโอกาสต่าง ๆ

          3) มีความต้องการการส่งเสริมบุคลากรด้านการวิจัย ในสาขาวนศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสาขาประมง  เพื่อศึกษาความหลากหลายในพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ประกอบด้วยประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เพื่อยกระดับการศึกษาปริญญาโท โดยเฉพาะด้านป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม

          4)  ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการฝึกงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัยจำปาสัก

12939278_785999254869903_1972436400_n

          ทั้งนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี ขอให้มหาวิทยาลัยจำปาสักรวบรวมปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานตามความร่วมมือที่ผ่านมา และความต้องการเพื่อจะได้นำไปพิจารณาดำเนินการลงนามความร่วมมือครั้งต่อไป

         เวลา 14.00 น. เดินทางไปยังเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว เพื่อเยี่ยมชมไร่กาแฟ ของบริษัท ปากซองไฮท์แลนด์ จำกัด ซึ่งมีพื้นที่ 14,000 ไร่ (2,400 เฮกตาร์) เป็นพื้นที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก บอละเวน เป็นชื่อของชนเผ่าละแว หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะของพื้นที่กับการปลูกกาแฟ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบสูงกว่า 1,300 ฟุตจากระดับน้ำทะเล มีอากาศที่เย็นเหมาะสมที่ประมาณ 19 องศาตลอดทั้งปี มีฝนตกเฉลี่ย 3,000 มิลลิเมตรต่อปี มีสภาพดินภูเขาไฟที่อุดมสมบูรณ์ มีการปลูกกาแฟอาราบิก้า เป็นหลัก โดยมีการรวบรวมกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ที่ดีที่สุด 22 สายพันธุ์ มาปลูก ใช้ทั้งเครื่องจักรกลและแรงงานคนในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ครบวงจร  นอกจากนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเป็นสถานประกอบการสำหรับฝึกงานให้กับนิสิตและนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรสาสตร์ และมหาวิทยาลัยจำปาสัก

12966091_785999578203204_798748704_n

          เวลา 16.00 น. เดินทางเยี่ยมชมโครงการพัฒนาด้านกสิกรรมบนพื้นที่สูง (สถานีเลี้ยงวัวหนองหิน) เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้น และเสด็จฯ ทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายในพื้นที่ประกอบด้วย แปลงทดลองการเกษตร ที่ทำการทดลองปลูกพืชในพื้นที่เมืองหนาว โดยคัดเลือกพื้นที่ในท้องถิ่นและพืชที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมาทดลองปลูกในพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างและขยายผลให้กับประชาชนในพื้นที่โดยรอบ จากนั้นออกเดินทางไปยังแขวงสาละวัน สปป.ลาว

          วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 08.00 น. เดินทางเยี่ยมชมการสร้างหอพระไตรปิฎกกลางน้ำ ณ วัดใหญ่สีมุงคุน (วัดกลาง)  และโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์พระสงฆ์สาละวัน เมืองสาละวัน แขวงสาละวัน  ซึ่งป็นโรงเรียนมิตรภาพแห่งที่ 4 ในโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมไทย – ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว – ไทยเพื่อมิตรภาพ โดยได้รับงบประมาณจำนวน 6,544,163 บาท หรือ 1,570,599,120 กีบ จากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย และโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้นำมาทอดถวายที่วัดสีมุงคุน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

12968606_785999711536524_184427807_n

          เวลา 08.30 น. นายกสภาฯ พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ร่วมประชุมหารือความร่วมมือกับ แผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงสาละวัน โดยมีดร.บุญรอด  จันทะจอน รองหัวหน้าแผนกกสิกรรมและป่าไม้  พร้อมด้วยท่านคำผ่าน สีระวี หัวหน้างานบริหารและแผน ท่านศักดา  แก้วดวงใส หัวหน้าแขนงป่าไม้ และ พัดสะหวัน  แก้ไชยวงศ์ หัวหน้างานชลประทาน  ซึ่งเป็นนิสิตเก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมนำเสนอภาพรวมของแขวงสาละวัน โดยเมืองสาละวันมีพื้นที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของ สปป.ลาว ทิศเหนือติดกับแขวงสะหวันนะเขต ทิศใต้ติดกับแขวงจำปาสัก ทิศตะวันออก ติดกับประเทศเวียดนาม และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งเขตการปกครองเป็น 8 เมือง ได้แก่ สาละวัน ละคอนเพ็ง คงเซโดน เหล่างาม ตุ้มลาน ตะโอ้ย สะม่วย วาปี มีพื้นที่ทั้งหมด 10,691 ตร.กม. ประชากรประมาณ 400,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  และมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ 50 ของเนื้อที่แขวง ในส่วนภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

          –  เขตภูเขา (เมืองตะโอ้ย และสะม่วย) ร้อยละ 40 ของเนื้อที่แขวงฯ เป็นพื้นที่ลาดชัน เหมาะแก่การปลูกไม้อุตสาหกรรม ไม้ผล กาแฟ และเลี้ยงสัตว์ใหญ่

          –  เขตที่สูง (เมืองเหล่างาม) ร้อยละ 20 ของพื้นที่แขวงฯ เหมาะสำหรับปลูกกาแฟ กล้วย ถั่ว พืชผักเมืองหนาว และไม้ผล

          –  เขตที่ราบ (เมืองสาละวัน เมืองวาปี เมืองตุ้มลาน เมืองคงเซโดน และเมืองละคอนเพ็ง) คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่แขวงฯ เป็นทุ่งกว้าง อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกข้าว พืชตระกูลถั่ว ประมง

          ในด้านการเกษตรและป่าไม้ หัวหน้าสำนักงานกสิกรรมและป่าไม้นำเสนอปัญหาและความต้องการในการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

          ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของแผนกกสิกรรมและป่าไม้  ได้แก่

          1) มีการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศสูง

          2) การใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม

          3)  ปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

          4)  มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน ฟ้า อากาศ และพบปัญหาการเกิดศัตรูพืช

          5)  พืชเศรษฐกิจ กำลังขยายตัวเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและมีปัญหาการทำลายพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น

          6)  มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้านมีจำนวนน้อย

          ความต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้แก่

          1)  การฝึกอบรมระยะสั้น และระยะยาว เพื่อส่งเสริมเกษตรกร

          2)  ทุนการศึกษาสำหรับพัฒนาบุคลากร

          3)  การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตร โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ และประมง แบบยั่งยืน

          นายกสภาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร รับฟังปัญหาอุปสรรคและความต้องการ และได้มีแนวทางในการช่วยเหลือในรูปแบบของการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ เนื่องจากมีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสามารถเป็นแกนนำในการประสานความร่วมมือดังกล่าวได้ โดยให้นโยบายการดำเนินงาน เน้นการบริหารคน และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้

          1)  วางแผนการบูรณาการองค์ความรู้ และถ่ายทอดมายังเมืองสาละวัน โดยการใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่วิทยุผ่านเว็บไซต์ ของสถานีวิทยุ มก.ซึ่งมีความร่วมมือกับแขวงเวียงจันทน์ อยู่แล้วและขยายเครือข่ายมายังจำปาสัก และสาละวัน

          2) จัดตั้งชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจัดทำระบบเครือข่ายความร่วมมือให้มีความเข้มแข็ง

          3)  ขอความร่วมมือในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ป่าไม้ในเขตร้อน เพื่อรวบรวมตัวอย่างของต้นไม้ ชนิดของป่า และตัวอย่างไม้ โดยอาจจะมีการขอตัวอย่างจาก สปป.ลาว และบอกแหล่งที่มา เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ต่อไป  นายกสภาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานร่วมกับ สปป.ลาวนั้น เป็นการดำเนินงานตามโครงการในพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจะได้มีการถวายรายงานเพื่อทราบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

          ในช่วงท้ายของการประชุม รองหัวหน้าแผนกกสิกรรมและป่าไม้ ได้กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถให้กับ สปป.ลาว อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการต่าง ๆ  สำหรับแขวงสาละวัน ยังต้องการแนวทางในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ที่ดำเนินการยังไม่ประสบความสำเร็จ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะมีการทำลายพื้นที่ป่ามากขึ้น มีความยินดีเป็นอย่างมากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีแนวทางให้กับแขวงสาละวันและยินดีต้อนรับพร้อมอำนวยความสะดวกในด้านหากมีความร่วมมือ

12957365_785999324869896_1390693332_n

          ในเวลา 11.00 น. นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกเดินทางจากแขวงสาละวันมายังจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร โดยสวัสดิภาพ