วันที่ 31 มีนาคม 2559  ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการสัมมนาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ พงศ์พิชญามาตย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ศิษย์เก่า เค ยู 28 อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณบดีคณะเกษตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากร ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดสดการสัมมนาพิเศษผ่านระบบ Teleconference  และ ระบบ Nontri Live ทาง www.ku.ac.th เพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากร นิสิต ศิษย์เก่า และผู้สนใจ ได้รับฟังและเข้าถึงข้อมูลการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม เพื่อเป็นแนวทางการในการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์และแผนพัฒนามหาวิทยาลัยให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศ เพื่อนำไปสู่แผนในระดับชาติต่อไป

          โอกาสนี้ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมนาพิเศษ  ศ.ดร.สืบศักดิ์ สนธิรัตน อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย รักษาการแทนอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ คณบดี หัวหน้าภาควิชา สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมการสัมมนา

          ศ.ดร.ธรรมศักดิ์ พงศ์พิชญามาตย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือศาสตร์แห่งแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการกินดีอยู่ดีของทุกคนในโลก ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกองคาพยพของมก.พร้อมที่จะผลักดันให้ มก.อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญและโดดเด่นของประเทศและของโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีชื่อเสียงทางวิชาการติดอันดับโลก นโยบายของประเทศไทยในขณะนี้ คือการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ผลักดันให้บรรจุเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 69 (หมวดนโยบาย) และมาตรา 54 (หน้าที่ในการศึกษา) โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประเทศกลุ่มโลกที่ 1 บนฐานนวัตกรรม รองรับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หลักแนวคิดก็คือ ปรับระบบวิจัยเร่งสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ ผลักดันภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาที่สอง สร้างคนในชาติให้มีความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          “ทุกคณะ ภาควิชา ของ มก. จะต้องมองภาพแนวคิดของประเทศ และมองยุทธศาสตร์ของสภามหาวิทยาลัยให้ชัดเจนแล้วเดินไปด้วยกัน สร้างกลุ่มวิจัยรองรับการปฏิรูปใหม่ กำหนดกลุ่มวิจัยให้ชัดเจน เพื่อรองรับฐานเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ทิศทางของการเกษตร อาหาร พลังงาน เป็นเรื่องหลัก มก.มีกลุ่มนักวิจัยครบถ้วนทุกด้านที่จะรองรับอนาคต นอกจากนี้เรื่อง ภาษา หลักสูตรการศึกษา STEM Education บัณฑิตศึกษา เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพ รองรับทรัพยากรบุคคลในทุกภาคส่วน”

KAS_0434-2