วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559  เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 54 “นวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก” (Agricultural Innovation for Global Value Chain) โดยมี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการแทนอธิการบดี รศ.ดร.ลิลลี่ กาวีต๊ะ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานร่วมจัด คณะผู้บริหาร และนักวิจัยให้การต้อนรับ

KAS_4795-2

          โอกาสนี้ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้กับนักวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยในการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 53 ประจำปี 2558 จำนวน 32 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลดีเด่น 3 รางวัล รางวัลดี 9 รางวัล และรางวัลชมเชย 20 รางวัล   ต่อจากนั้น ภาคบ่าย เวลา 14.00 น. รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานการนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ จำนวน 164 เรื่อง พร้อมมอบรางวัลผู้นำเสนอผลงานโปสเตอร์สวยงาม ในการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 54 จำนวน 6 รางวัล จากนั้นเยี่ยมชมผลงานภาคโปสเตอร์ โดยมี รศ.ดร.ลิลลี่ กาวีต๊ะ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ นำชมผลงาน ณ อาคารศูนย์เรียนรวม 3

          การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2559 ณ อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ อาคารศูนย์เรียนรวม 3 และ อาคาร 4 คณะสังคมศาสตร์  ได้รับความสนใจจาก นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการ บุคลากร และนิสิตนักศึกษา จากองค์กรและสถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ จำนวน 439 เรื่อง โดยผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขา ให้นำเสนอมีทั้งสิ้น 352 เรื่อง ได้แก่ ภาคบรรยาย 188 เรื่อง และ ภาคโปสเตอร์ 164 เรื่อง จำแนกเป็นผลงานวิจัย หมวดเกษตรศาสตร์ 140  เรื่อง  หมวดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม 142 เรื่อง  และ หมวดศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 70 เรื่อง นอกจากนี้ยังจัดการอภิปราย บรรยาย และเสวนาพิเศษ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก” อีก 14 เรื่อง เพื่อแลกเปลียนแนวคิดและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าระดับโลกทางด้านผลผลิตภาคการเกษตรเป็นวงจรห่วงโซ่ การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรสู่สังคมการมีส่วนร่วมในขับเคลื่อนประเทศชาติ  อันจะนำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาศาสตร์เกษตรที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจเพื่อแข่งขันในระดับสากลโลก