รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  โดยมี นายลักษณ์  วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นายนิพัฒน์ เกื้อสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร นักวิจัย มก.คณะผู้บริหาร ธ.ก.ส. ร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ บางเขน

KAS_7244_2

          การลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกในปีพ.ศ.2545 ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2558 และดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย  ผลงานความสำเร็จที่ผ่านมา  อาทิ

  1. โครงการพัฒนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้สร้างมาตรฐานสินค้าของลูกค้า ธ.ก.ส. ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ 754 กลุ่ม
  2. โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สนับสนุนให้นิสิตได้พัฒนางานทางด้านการเกษตร ด้วยการฝึกการเขียนแผนธุรกิจที่สามารถทำได้จริง มีนิสิตผ่านการฝึกอบรมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 200 คน
  3. โครงการพัฒนาขีดความสามารถพนักงานของ ธ.ก.ส.ได้แก่ โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารพนักงานระดับ 8 ดำเนินการแล้ว 36 รุ่น รวม 1,570 คน โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารพนักงานระดับ 9 ดำเนินการแล้ว 53 รุ่น รวม 2,303 คน โครงการหลักสูตร “การเงิน” ดำเนินการแล้ว 9 รุ่น รวม 470 คน และโครงการพัฒนาผู้ช่วยพนักงานพัฒนาธุรกิจ ดำเนินการแล้ว 10 รุ่น รวม 504 คน
  4. โครงการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งค้นหาความรู้และพัฒนาชนบทอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดทัศนศึกษาและดูงานด้านการพัฒนาการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ โครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โครงการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติในศูนย์เรียนรู้ เป็นต้น

          ด้วยองค์ความรู้ของ มก. และขับเคลื่อนด้วยพลังของ ธ.ก.ส การลงนามในครั้งนี้จึงได้ขยายขอบเขตความร่วมมือให้กว้างขวางและครอบคลุมกิจกรรมหลัก 3  ด้าน คือ 1.การนำความรู้สู่ชุมชน (Social Engagement) อาทิ กิจกรรมความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดสู่การส่งออกต่างประเทศ การพัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 2. การพัฒนาบุคลากรและนิสิต (Human Resource Development) อาทิ กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการฝึกปฏิบัติงานและการเข้าสู่อาชีพด้านการเกษตรของนิสิต ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้ของพนักงาน ธ.ก.ส. และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และ 3.การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Synergy) อาทิ การนำนวัตกรรมพลังงานทางเลือก Solar Energy การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม การสำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาล มาเสริมความเข้มแข็งให้กับประชาชนในชนทบท เป็นต้น โดยในแต่ละกิจกรรมหลักจะมีคณะกรรมการดำเนินโครงการในแต่ละกิจกรรมเพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับจากวันลงนามในบันทึกข้อตกลง