พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2557 ในวันที่ 26 – 30 ตุลาคม 2558 เวลา 14.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 ราย ได้แก่

          ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปฐพีวิทยา ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดินและปุ๋ยในระดับแนวหน้าของไทย และได้รับการยอมรับในระดับสากล มีผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมากมาย เช่น คู่มือสำหรับการเกษตรยุคใหม่ “ธรรมชาติของดินและปุ๋ย” เป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจได้ง่าย และมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ ได้สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร ได้แก่ ชุดตรวจสอบ N P K ในดิน แบบรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง ใช้เวลาเพียง 30 นาที จึงช่วยแก้ปัญหาที่หน่วยงานราชการไม่สามารถให้บริการตรวจดินแก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและทันเวลาเพาะปลูก นอกจากนี้ยังทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าชุดตรวจสอบ ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก

นอกจากนี้ อาจารย์ยังได้ปฏิรูปกระบวนการวิจัยของโครงการ ”การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที” นับเป็นนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่พัฒนาต่อมาเป็น เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ทำให้ได้คำแนะนำปุ๋ยที่มีความแม่นยำสูงสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย (ภาคอีสาน) อีกทั้งสามารถนำระบบฐานข้อมูลจากการวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์สำหรับการวิจัยในอนาคตได้

           นายเอนก ลิ่มศรีวิไล ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช  ผู้เป็นนักปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันร่วมกับการปลูกทดสอบพันธุ์ในประเทศ ก่อนเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยมีทีมวิจัยติดตามผลผลิตที่ได้ รวมทั้งให้คำแนะนำพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เกิดจากการพัฒนาที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบัน พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เกิดจากประสบการณ์ ของท่านที่สั่งสมมานั้น ปัจจุบันเกิดจากพ่อแม่พันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ชื่อ “ปาล์มน้ำมันลูกผสม พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า กระบี่ 1” จากความตั้งใจและใส่ใจในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี  ทำให้มีเกษตรกรที่สนใจและนำพันธุ์ไปปลูกทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา จนปัจุบันเกษตรกรได้นำไปปลูกกระจายในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยพันธุ์ปาล์มน้ำมัน และ ได้รับความนิยมในหมู่ชาวสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ และถือเป็นพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีความทนแล้ง ให้ผลผลิตทะลายและผลผลิตน้ำมันสูง

          นาวาตรี วิชา ยุกตานนท์ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเดินเรือ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในวิชาการเดินเรือ ที่ได้ปฏิบัติงานในเรือทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่งบนเรือ จนเป็นกัปตันเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในเรือของเรือหลายประเภท  จากประสบการณ์การเดินเรือไปทุก ๆ น่านน้ำในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายปี และมีความรู้ความสามารถได้รับประกาศนียบัตรเกี่ยวกับวิชาชีพด้านการเดินเรือ เช่น Certificate of Competency class 1 Master Mariner จากประเทศไทย และของประเทศ Liberia และ Panama เป็นต้น และยังเป็นผู้ร่วมจัดตั้งวิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์การเดินเรือฉบับแรก โดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี  2549 เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และร่วมปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์การเดินเรือ ปี 2553 นอกจากนี้ยังได้จัดทำตำราเรียนในหัวข้อการเดินเรือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในสถาบันของรัฐ และเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการเดินเรือ เช่น ตำราพายุหมุนโซนร้อน คู่มือการฝึกภาคปฏิบัติทางทะเล  การต่อต้านโจรสลัดทะเลหลวง  การจัดทำและแปลเอกสารจรรยาบรรณเกี่ยวกับการปฏิบัติตนสำหรับบุคคลที่ทำงานบนเรือพาณิชย์

          รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต  ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการกีฬา ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากีฬาประเทศไทย ด้วยการพัฒนาวิชาชีพพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬาให้มีความก้าวหน้า โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการจัดการกีฬาอย่างชัดเจน มีผลงานทั้งในด้านการริเริ่ม การส่งเสริม และผลักดัน ให้เกิดการพัฒนากีฬาทั้งในด้านของการวางแผนงาน การจัดองค์กร การจัดการบุคลากร การปฏิบัติ และการประเมิน ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ รวมท้งผลงานเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรและสมาคมวิชาชีพด้านพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา และการจัดการกีฬา เป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งภาควิชาพลศึกษาและจัดทำหลักสูตรการผลิตครูพลศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้บุกเบิกและก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการกีฬา มีผลงานด้านการกีฬาเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ และยังได้ริเริ่ม ส่งเสริม และผลักดันงานสตรีกับกีฬาให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการทำงานของท่านที่ได้ทุ่มเททำให้การศึกษาและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทยในปัจจุบันได้เจริญเติบโต และขยายขอบเขตไปสู่องค์ความรู้ทางด้านการจัดการกีฬา และยังได้เปิดการเรียนการสอนในศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการกีฬา ในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการจัดทำแผนการพัฒนากีฬา และใช้เป็นแนวทางในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการกีฬาของภูมิภาคอาเซียน

          นายปราโมทย์ ไม้กลัด ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ  ผู้พัฒนาแหล่งน้ำ งานเขื่อนและระบบส่งน้ำ งานป้องกันและบรรเทาอุทกภัย งานด้านอุทกวิทยา และการจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งงานที่กรมชลประทานตามแผนงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรวมถึงงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงใช้สอยให้ทำงานสนองพระราชดำริมานานกว่า 20 ปี ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษา วางแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในทุกรูปแบบอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำขึ้นตามภาคต่าง ๆ เช่น วิกฤตการณ์ภัยแล้ง วิกฤตการณ์อุทกภัย เป็นต้น รวมทั้งได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากร ในสาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำเกี่ยวกับการวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ การออกแบบเขื่อนดินและฝาย และวิชาอื่น ๆ เป็นประจำ โดยนำความรู้ความชำนาญเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งทุ่มเทเสียสละเวลาจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สถาบันการศึกษา สังคม และประเทศชาติ

          ศ.เลอสม สถาปิตานนท์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้มีความมุ่งมั่นในการเพาะบ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามาโดยตลอดจนปัจจุบันด้วยความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนการเนื้อหาการออกแบบขั้นมูลฐานทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติกับนิสิตสถาปัตยกรรมในชั้นปีที่ 1 เป็นหลักด้วยเหตุที่ว่า การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ดีนั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นที่รากฐานของความรู้เช่นเดียวกับการก่อสร้างบ้านหรืออาคารที่ต้องเริ่มต้นจากฐานรากเป็นสำคัญ รวมทั้งท่านได้ผลิตเอกสารตำราที่เป็นพื้นฐานการเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่นอกจากจะใช้ประกอบการเรียนการสอนภายในคณะตนเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อนิสิต นักศึกษาสถาปัตยกรรมจากสถาบันอื่นๆ ที่มีความสนใจมากมาย และถูกนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาการออกแบบพื้นฐานของคณะสถาปัตยกรรมและคณะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

ท่านเป็นต้นแบบของสถาปนิก นักวิชาการที่มีความสามารถและศักยภาพในการบริหารจัดการงานด้านการบริหารจัดการองค์กรได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบที่อยู่อาศัย และการพัฒนามหาวิทยาลัยด้วยองค์ความรู้ด้านการออกแบบและสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก

          Professor Eric Dubreucq (อีริค ดูเบรค) ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ  ผู้ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน การทำวิจัยร่วม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา และผลักดันให้นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับทุนการศึกษาต่อในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ศาสตราจารย์อีริค ดูเบรค ยังเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข็มแข็งของเครือข่ายงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันการศึกษารวมถึงสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง LipPolGreen- Asia Platform ซึ่งเป็น Platform ที่มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยทางด้านการใช้ประโยชน์จากชีวมวลด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ชั้นสูง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Agropolis foundation ซึ่งนับเป็น Platform แรกที่ได้รับการสนับสนุนโดยแหล่งทุนจากยุโรปให้จัดตั้งในทวีปอื่น และยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคุณประโยชน์ด้านวิชาการและ สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในแขนงต่างๆ ด้วยเกียรติคุณและผลงานดีเด่น

          นางนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตรศึกษา   ผู้ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาชีพด้านการปรุงอาหารและเคล็ดลับเกี่ยวกับอาหารไทยต้นตำรับและมีทักษะการทำอาหารไทยเป็นอย่างมาก จึงได้พัฒนาทักษะการทำอาหารไทยเมนูใหม่ ๆ โดยคงความเป็นรสชาติอาหารไทยอยู่  ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการก่อตั้งภัตตาคารบลูเอเลเฟ่นท์ ที่ให้บริการทั้งอาหารและเปิดสถาบันการถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกอบอาหารไทย  และเป็นส่วนหนึ่งทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลกนางนูรอ โซ๊ะมณี สเต๊ปเป้ ได้ตั้งใจและมุ่งมั่นทำงานอย่างเสียสละคู่มากับสามีคือนายคาร์ล สเต๊ปเป้ ด้วยอุดมการณ์ของการอนุรักษ์องค์ประกอบต่าง ๆ ในธุรกิจอาหารไทย ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากโครงการหลวง ได้เดินทางไปทั่วโลกในฐานะเชฟหญิงไทย เพื่อเผยแพร่อาหารและวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยังให้ความสำคัญของการอนุรักษ์อาหารไทยและการส่งเสริมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก จึงได้ขยายสาขาไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้อาหารไทยแบบ high-end ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จัก และยังเป็นการยกฐานะและรูปแบบการบริการอาหารไทยในภัตตาคารชั้นสูงด้วย

          นายประสิทธิ์ ศรีสุขจร ปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร ผู้ค้นคว้าพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรหลากหลายประเภทให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย อาทิ ไถบุกเบิก 3 จาน ที่ใช้งานได้ดีในชุดดินกำแพงแสนและสภาพดินเหนียว พรวนเอนกประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาตออ้อย ไถสับกลบวัชพืชและใบอ้อยซึ่งสามารถช่วยลดการเผาใบอ้อย ไถระเบิดดินดานทั้งแบบธรรมดาและแบบสั่น เพื่อลดการอัดแน่นของดิน เครื่องปลูกอ้อยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และพันธุ์อ้อยที่นิยมปลูกภายในประเทศ เครื่องใส่ปุ๋ย รถแทรกเตอร์ล้อสูงสำหรับบำรุงรักษาต้นอ้อย เครื่องปรับระดับผิวดินแบบติดตั้งด้านหน้าและด้านหลังรถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำใช้งานร่วมกับรถแทรกเตอร์ รถเทรลเลอร์ต่อพ่วงรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ แบบจานหมุนคานหน้าความเร็วสูง เครื่องตัดอ้อยต่อพ่วงรถแทรกเตอร์ เครื่องคีบอ้อยต่อพ่วงรถตักดินล้อยาง และยังเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ ตลอดจนเทคนิคการจัดการโลจิสติกส์เกษตรมาประยุกต์ใช้ ซึ่งล้วนได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี

 

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ มก., 5 ตุลาคม 2558